03 กันยายน 2555

Digital และ Analog ?

Digital และ Analog ?
     จั่วหัวมาอย่างนี้แน่นอนครับว่าเพื่อนๆคงจะเดากันออกแล้วว่าผมจะพูดถึงเรื่องอะไร ในโลกของการสร้างสรรค์บทเพลงนับตั้งแต่อดีตเท่าที่ผมจำความได้ ว่าได้เข้ามายุ่งเกี่ยว จวบจนถึงปัจจุบัน ณ.วันที่ผมยังมีโอกาสได้ทำงานที่รักนี้อยู่ ด้วยสุขภาพที่ยังไหว และด้วยใจที่ยังรัก

     ผมเป็นคนหนึ่งที่ถือว่าโชคดีมากที่ได้เจอทั้งยุคเรืองรองของอดีต และยุคที่ดนตรีเหมือน Fast Food ที่สั่งด่วนเสร็จด่วนได้ ในยุคปัจจุบันก็แน่นอนมันคือโลกของ Digital และอดีตนั่นก็คือ Analog ถามว่ามันต่างกันไหม ตอบไม่อ้อมค้อม "มันต่างกันสิ้นเชิงครับ" แล้วอะไรมันดีกว่ากัน? ผมเชื่อว่าน้องๆ (คงต้องขอเรียกอย่างนี้) ที่เพิ่งจะอายุไม่เกิน 25 ปี ต้องบอกว่าคงมีโอกาสน้อยแล้วที่จะได้สัมผัสการทำงานในแบบ Analog 100%

     เมื่อในอดีตเรามีของดีใช้จากวิศวกรอิเล็คทรอนิกส์ ปัจจุบันเรามีของดีใช้จากวิศวกรทางด้านซอฟท์แวร์ แต่ตอนนี้ผมว่าแนวทางทั้งคู่กำลังมาบรรจบกัน

     เราเคยชื่นชอบรสชาติของความเป็นอนาล็อค แต่ก็เบื่อกับต้นทุนที่สูงมาก และการบำรุงดูแลรักษาที่ยากกว่าและการทำงานที่ต้องพิถีพิถันกว่า รวมถึงต้องทำงานกับมืออาชีพมากกว่าถึงจะดีกว่า และเราก็เคยชื่นชอบความชัดเจนที่มากกว่า และความสะดวกรวดเร็วที่มากกว่าของโลกดิจิตอล แต่สุดท้ายเราก็เบื่อกับซาวด์ที่บางๆ กรอบๆ แบนๆ และขาดความเป็นดนตรี (เชื่อผมเถอะว่าขาดจริงๆ)

     แล้วอะไรมันดีที่สุด? วันนี้ผมเห็นว่า มันไม่มีอะไรดีที่สุด แต่ว่าการรู้จักเลือกใช้ การรู้จักทำงาน และการรู้จักมัน ไม่ว่ามันจะเป็น Digital หรือ Analog อันนั้นสำคัญสุด แล้วจึงเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน หรืออาจรวมไปถึงปัจจัย (เงิน) ด้วยก็ได้ครับ

     วันนี้ทั่วโลก (Professional) ผมเชื่อกว่ากว่า 90% up ต่างยอมรับครับว่า Hybrid Technology กำลังมา และงานที่เราฟังส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้นด้วย นั่นหมายถึงว่าความเป็น Analog กำลังจะกลับมา ความเชื่อของผม ผมมองว่าซาวด์ที่ดีๆ กำลังจะกลับมา อันนี้ผมหมายถึงงานในไทยด้วยนะครับจากที่ได้ฟังจากงานคุณภาพต่างๆ รวมไปถึงการสังเกตุเด็กรุ่นใหม่ๆที่เริ่มหันมาหา Outboard ดีๆกันมากขึ้น ทั้งนี้ต้องบอกว่าคงเป็นที่ปัจจัยทางด้านอื่นๆเสริมด้วย เช่น มีผู้นำเข้าและตัวแทนผลิตภัณฑ์ใหม่ๆมากขึ้น สุดท้ายคงเป็นที่การเสพซาวด์ที่เปลี่ยนไป

     แน่นอนว่าคนกลุ่มใหญ่ที่เป็นนักฟังเพลงจริงๆ คือฟังอย่างเดียวไม่คิดอะไรเลย ก็คงตัดสินใจที่ตัวเพลง กล่าวคือชอบก็ฟัง อันนี้จบครับ ไม่ต้องมีเหตุผลใดๆมาประกอบ แต่ว่าถ้าเป็นนักฟังตัวยงหน่อยที่ชอบฟังงานคุณภาพ หรือนักดนตรีที่มีสุนทรีย์ มีโลกส่วนตัวสูงๆหน่อย และคนที่ชอบซาวด์ หรือทำงานเกี่ยวข้องทางด้านนี้โดยตรง ผมว่าทุกคนคงตอบคำถามให้กับตัวเองได้ว่า Digital หรือ Analog กันแน่ที่เป็นคำตอบของคุณ

     ค่ายผู้พัฒนา Plugins ใหม่ๆก็พยายามที่จะสรรค์สร้างโปรแกรมที่ Simulate Hardwae ออกมาให้เหมือนจริงมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงงานที่ดีจริงๆบนโลกใบนี้ยังคงใช้ Outboard และ Analog Tape ในการทำงานอยู่ ทุกคนเสพซาวด์นั้นแล้วก็ชอบ และเริ่มเบื่อ Digital มากขึ้นก็ทำให้มี Plugin ใหม่ๆที่ Simulate Tape Machine เกิดขึ้นมากมาย นั่นแปลว่า การกระสันหาซาวด์ที่ Satuation ในแบบ Tape กำลังกลับมาได้รับความนิยม และเป็นที่ต้องการนั่นเอง

     ดังนั้นไม่ว่าเวลาจะผ่านไปอีกกี่ยุคสมัยก็ตามที ความเป็น Analog ก็จะยังคงอยู่ ถึงแม้ว่ากระบวนการ Processing จาก DSP หรือ CPU จะพัฒนาไปเพียงใดก็ตาม ในความเชื่อผมก็ไม่สามารถที่จะมาทดแทน Analog ได้ เสมือนว่าไม่ว่าเครื่องดนตรีจะพัฒนาไปมากเพียงใด สุดท้ายก็ต้องอยู่ที่ทักษะของผู้เล่นอยู่ดี

02 มิถุนายน 2555

มิกซ์บนคอมเสร็จแล้ว..ก่อนนำไปปั๊ม CD ..ต้องทำ MASTERING ?

     สำหรับหัวข้อนี้พอดีกับผมลองไปค้นหาใน Google คำว่า "การทำ Mastering" แล้วไปเจอคำถามนี้ซึ่งเป็นคำถามเก่าที่อยู่ในกระทู้ของ Webboard ของ www.patid.com ซึ่งกระทู้นี้ได้ปิดไปแล้ว ซึ่งเนื้อหาภายในได้ถามถึงว่า หากเรา Mix เพลงในคอมพิวเตอร์เสร็จแล้ว มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องส่งไปทำ Master ที่สตูดิโอใหญ่ๆ (ซึ่งเค้าหมายถึง Mastering Studio) แล้วมันมีข้อดี หรือข้อด้อยอย่างไร ซึ่งผมก็เห็นว่ามีหลายคนสนใจในเรื่องนี้ หรืออาจเคยตั้งคำถาม หรืออาจจะมีคำถามอย่างนี้อยู่ในใจ



     โดยส่วนตัวผมแล้วผมก็รับทำ Mastering อยู่ ก็เลยอยากเข้ามาตอบในประเด็นนี้ และมาคลายข้อสงสัยให้กับเพื่อนๆ ที่อาจมีคำถามอย่างนี้อยู่ในใจ ซึ่งผมขอตอบแยกเป็นสองประเด็นนะครับคือ จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องส่งไปทำ Master กับอีกประเด็นคือ เรื่องข้อดี ด้อย นะครับ



1. จำเป็นหรือไม่ต้องส่งไปทำ Master
ตอบ
     สำหรับคำถามนี้นั้นคงตอบแบบฟันธงไม่ได้เลยทีเดียว เพราะความจำเป็นของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการของการนำงานไปใช้ หรือเป้าหมายสุดท้ายของงานเป็นส่วนสำคัญ เช่น หากเราต้องการทำเพลงเล่นๆ หรือฝึกฝน อันนี้ก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องส่งทำ Mastering หรือว่าหากเราต้องการเรียนรู้การทำ Mastering ก็อาจต้องทำด้วยตนเอง กรณีนี้ก็อาจไม่ต้องส่งก็ได้ แต่ในกรณีนี้อาจจะจ้าง Master ก็ได้เพราะเราก็จะได้ไปดูการทำงานของ Mastering En

     แต่หากในกรณีที่งานของเราต้องการนำไปเผยแพร่ หรือต้องการงานที่มีคุณภาพสูง อันนี้ก็จำเป็นที่จะต้องจ้าง Mastering En ในการทำงานให้กับเรา เพราะด้วยประสพการณ์ของ Engineer เอง รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ก็จะทำให้ Mix ของเรานั้นสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งประเด็นที่สำคัญอีกประการคือ Mastering En จะไม่คุ้นเคยกับเพลงของเรา เมื่อเปลี่ยนคนฟัง หรือมีคนช่วยฟังงาน ก็จะทำให้เห็นถึงข้อดี หรือปัญหาที่อยู่ใน Mix นั้นๆ ซึ่งหากเราทำ Mastering เอง ปัญหาหนึ่งคือเราอยู่กับ Mix นั้น นานๆ อาจทำให้เราไม่เห็นจุดเด่น จุดด้อยในงานนั้นๆ

2. ข้อดี ข้อด้อย
ตอบ
     เรื่องข้อดี และข้อด้อย นั้นตอบกันจริงๆก็จะยาว แต่ตามความเห็นของผมข้อดีจะมีมากกว่า ข้อด้อย ถ้าจะให้ตอบข้อด้อยที่เป็นสาระสำคัญก่อนก็คือ เราไม่ได้ทำเอง และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

     แต่อันที่จริงแล้วนั้นข้อดีจะมีมากกว่า เพราะการทำ Master ด้วย Software และ Hardware Mastering grade นั้นมีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งในเรื่องคุณภาพเสียง และในเรื่องของ Head room ซึ่งทำให้ Output ที่ได้นั้นแตกต่างกัน อีกเรื่องที่คนมองว่าการจ้างทำ Mastering นั้นมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่อันที่จริงแล้วถือว่าคุ้มค่ามากต่อการลงทุน เพราะการที่เราจะซื้อเครื่องมือสำหรับการทำ Mastering ดีๆมาใช้ในงานเรานั้นคงไม่คุ้มค่าแน่ เพราะรวมๆแล้วเครื่องมือทำมาสเตอร์นั้นมีราคาเริ่มกันตั้งแต่ หลักแสนขึ้นไปเป็นฐานเริ่มต้น ไปจนถึงหลักล้าน ถ้าจะซื้อมาเพื่อทำงานก็คงถอนทุนกันยาก ดังนั้นการจ้างจึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากว่าและเป็นคำตอบที่สมเหตุสมผลกว่านั่นเอง



     หวังว่าบทความนี้คงคลายข้อสงสัยหรือคำตอบได้บ้าง แต่หากเพื่อนๆยังมีคำถามก็ส่งคำถามมาถามกันได้นะครับที่ Jumpodt@gmail.com หรือโทรสอบถามพูดคุยกันได้ครับ 080-9998737 ก็ยินดีแลกเปลี่ยนทัศนะความเห็นครับ